HR ต้องอ่าน สรุปคำถามสัมภาษณ์เชิงด้อยค่า จากความเห็นของผู้สมัครงาน

  • 23 พ.ค. 2566
  • 2249
หางาน,สมัครงาน,งาน,HR ต้องอ่าน สรุปคำถามสัมภาษณ์เชิงด้อยค่า จากความเห็นของผู้สมัครงาน

จากคอนเทนต์ที่ JOBBKK ได้นำเสนอให้ผู้สมัครงานเข้ามารีวิวเกี่ยวกับคำถามการสัมภาษณ์งานที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นไปในเชิงด้อยค่า  ซึ่งมีแฟน ๆ เข้ามาร่วมพูดคุยกันมากมาย ขอขอบพระคุณมาก ๆ เลยนะคะ

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ HR ได้นำไปปรับใช้ในการสัมภาษณ์งานที่เหมาะสมและไม่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ขององค์กร มาดูกันเลยค่ะ คำถามเชิงด้อยค่าในความเห็นของผู้สมัครงานมีอะไรบ้าง มาหาแนวทางแก้ไขไปพร้อมกันนะคะ

 

1 ไม่ได้จบตรงสาย จะทำได้เหรอ ? (ทั้งที่ผู้สมัครฝากประวัติไว้ในเว็บ และ HR เป็นฝ่ายโทรมาเรียกให้ไปสัมภาษณ์)

แนวทางแก้ไข : ก่อนนัดสัมภาษณ์ควรสอบถามประวัติผู้สมัครให้แน่ใจก่อนจะดีที่สุดค่ะ ว่าตรงตามประกาศไหม โดยเฉพาะคุณสมบัติด้านการศึกษา ทักษะความสามารถและประสบการณ์ หากไม่ตรง จะได้ไม่เสียเวลาทั้ง 2 ฝ่ายด้วยค่ะ แต่ถ้าเรียกมาแล้ว เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาว่าผู้สมัครมีความสามารถตรงหรือไม่ ควรถามถึงประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาว่าทำอะไรบ้าง หรือถามถึงทักษะที่ทางบริษัทต้องการไปเลย ว่าถนัดในด้านนี้ไหมจะดีกว่าค่ะ  

 

2 ถามถึงอาชีพของพ่อแม่ แล้วแสดงความเห็นในเชิงดูถูกครอบครัว

แนวทางแก้ไข : การสัมภาษณ์งาน ควรถามเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับทักษะความสามารถของผู้สมัครจะดีกว่าค่ะ เพื่อพิจารณาว่าตรงตามที่ต้องการแค่ไหน แต่หากจะชวนคุยเรื่องอื่น ๆ เพื่อให้บรรยากาศการสัมภาษณ์ดูผ่อนคลายมากขึ้น ก็ไม่ควรถามลึกเกินไป เพราะจะกลายเป็นการทำให้ผู้สมัครรู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัว และไม่ควรแสดงความเห็นเชิงวิจารณ์ในด้านลบด้วยนะคะ

 

3 จบด้านนี้แล้วทำไมไม่ทำงานด้านนี้ล่ะ พร้อมสายตาที่มองเหยียด

แนวทางแก้ไข : ท่าทาง สายตาของผู้สัมภาษณ์งานต้องจริงใจค่ะ อย่าแสดงอาการดูถูกหรือเหยียดผู้สมัคร ยังไงแล้วทุกคนล้วนมีคุณค่าเหมือนกัน และการเลือกใช้คำพูดในการถามก็สำคัญมากค่ะ จริง ๆ ความหมายในคำถามนี้ก็ดูจะไม่ผิดอะไร แต่อีกมุมนึงก็คือ ผู้สมัครที่เลือกมาสัมภาษณ์งานนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วว่าเขาสนใจงานนี้ 

ดังนั้น อาจเปลี่ยนเป็นการถามในทำนองว่า เราจบด้านนั้นมา แต่ทำไมถึงสนใจด้านนี้ ? ซึ่งสามารถนำคำตอบมาพิจารณา Passion ของเขาได้ดีกว่าด้วยค่ะ

 

4 คุณจบ BBB มาเหรอ ผมจบ AAA

แนวทางแก้ไข : สถาบัน, ความเชื่อ, ศาสนา, การเมือง หรืออื่น ๆ ที่เป็นเรื่องอ่อนไหว มีโอกาสทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้ ดังนั้นไม่ถามจะดีที่สุดค่ะ รวมถึงการนำมาพูดในเชิงเปรียบเทียบ แม้ผู้สัมภาษณ์จะไม่ได้คิดในแง่ลบ แต่ก็มักทำให้ผู้สมัครเข้าใจผิดได้ง่ายมาก ๆ แต่หากจะถามในเรื่องการศึกษา ควรถามในประเด็นว่า ทำไมถึงสนใจเรียนคณะนี้สาขานี้ หรือให้พูดถึงจุดเด่นของสถาบันจะดีกว่าค่ะ จะได้เห็นทักษะการ Present และ Passion ในการเรียนด้านนั้นด้วยค่ะ

 

5 เมื่อตอบว่า จบจาก........ แล้ว HR เบะปาก

แนวทางแก้ไข : สถาบันการศึกษาล้วนเป็นที่สร้างคนให้มีความรู้ความสามารถค่ะ ใครจะเก่งแค่ไหน ก็อยู่ที่ความทุ่มเทตั้งใจ ไม่ได้อยู่ที่ว่า สถาบันนั้นชื่ออะไร มีชื่อเสียงแค่ไหน ดังนั้น อย่านำเรื่องนี้มาตัดสินและแสดงความรู้สึกส่วนตัวในด้านลบออกมาให้ผิดใจกันหรือถึงขั้นเกิดความขัดแย้งเลยค่ะ

 

6 บอกกับผู้สมัครว่า ได้เกรดเฉลี่ยน้อย

แนวทางแก้ไข : ระดับความพร้อมในการทำงาน ไม่ได้วัดจากเกรดเฉลี่ยอยู่แล้วค่ะ สำคัญที่สุดคือทักษะความสามารถที่ได้มาจากการเรียน การฝึกงาน หรือการทำงานที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ HR ควรถามและพูดถึงเพื่อนำมาพิจารณาเลือกคนเข้าทำงาน บางคนเกรดน้อย แต่มากประสบการณ์ ก็สามารถมีทักษะที่พร้อมทำงานมากกว่าคนที่เกรดสูงนะคะ

แต่ถ้าประกาศงานนั้นมีการกำหนดเกรดไว้ว่าต้องไม่น้อยกว่า ....... ใครที่ไม่ตรง ก็ไม่ต้องเรียกมาจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องมาติดประเด็นกันในเรื่องนี้ให้รู้สึกไม่ดีกันเปล่า ๆ ค่ะ

 

7 พูดแต่ว่าตัวเองเก่งแบบนั้นแบบนี้ แล้วบอกกับผู้สมัครว่า คุณไม่สามารถทำงานนี้ได้หรอก ทั้งที่เพิ่งเจอกันไม่ถึง 10 นาที ...ผู้สมัครถึงกับงงว่า นี่มาสัมภาษณ์หรือมาฟังพี่พูดกันแน่ ?

แนวทางแก้ไข : การสัมภาษณ์งานคือการสอบถามผู้สมัครและอาจแชร์เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานนั้นให้ผู้สมัครฟัง ซึ่งการจะตัดสินผู้สมัครว่าเขาจะสามารถทำงานนั้นได้ไหม ก็ได้จากการถามค่ะ ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็บอกว่าตัวเองเก่งแล้วนำไปเปรียบเทียบว่าคนอื่นทำไม่ได้

 

แต่ถ้าถามกับผู้สมัครครบถ้วนแล้วประเมินได้ว่า เขายังไม่พร้อมทำงาน ก็ควรเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมนะคะ อย่างในทำนองที่ว่า คุณสมบัติของคุณยังไม่ตรงตามที่เรากำหนดเท่าไร ไม่ควรพูดในเชิงที่ทำให้ผู้สมัครรู้สึกติดลบ ดังเช่นตัวอย่างนี้เลยค่ะ

 

8 คุณเก่งแค่ไหน ถึงมาเรียกเงินเพิ่มจากที่เก่า

แนวทางแก้ไข : ควรเลือกถามในประเด็นเกี่ยวกับความสามารถของผู้สมัครเพื่อประเมินว่าตรงตามที่ต้องการและอยู่ในระดับที่พร้อมทำงานมากแค่ไหนดีกว่าค่ะ ซึ่งคำตอบเหล่านี้จะนำมากำหนดในเรื่องของเงินเดือนที่เหมาะสมได้มากกว่า และถ้าผู้สมัครเรียกสูงเกินไป ก็ควรแจ้งเหตุผลที่เหมาะสมด้วย เช่น ตามโครงสร้างบริษัทสามารถให้ได้เท่านี้ หรือทางบริษัทต้องการคนที่สามารถทำด้านนี้ได้ด้วย ซึ่งจากการประเมินแล้วเห็นว่าคุณสามารถเข้ามาเรียนรู้เพิ่มได้ แต่เงินเดือนสามารถให้ได้เท่านี้

 

9 ตัวจริงอ้วนกว่าในรูปอีกนะ ลองทำ IF ไหม พี่ก็ทำ ลดได้เยอะเลย

แนวทางแก้ไข : หากงานตำแหน่งนั้นมีการกำหนดเรื่องน้ำหนัก ส่วนสูง หรือเป็นงานที่เจอคนเยอะ อยากได้คนที่หุ่นดีหน่อย ก็ควรพิจารณาตั้งแต่ในเรซูเม่เลยค่ะ ดูที่ข้อมูลเลยว่าเขาระบุมาเท่าไร อย่าดูแค่รูปอย่างเดียว ชัวร์ที่สุดคือ ถามเขาตั้งแต่ก่อนนัดสัมภาษณ์เลยค่ะ ถ้างานนั้นเน้นในเรื่องนี้ผู้สมัครย่อมเข้าใจอยู่แล้วค่ะ

 

10 งานอดิเรกทำอย่างอื่นไม่ได้เหรอ นอกจากทำอาหารกับปลูกต้นไม้ / โตแล้วยังดูการ์ตูนอีกเหรอ

แนวทางแก้ไข : ส่วนนี้เป็นเรื่องของการเลือกใช้คำพูดเช่นกันค่ะ ไม่ควรเป็นคำที่มีความหมายหรือเป็นการวิจารณ์เชิงลบในทำนองว่า ทำไม่ได้เหรอ, ทำได้แค่นี้เหรอ ,ยังทำแบบนี้อยู่อีกเหรอ ซึ่งแม้ผู้สัมภาษณ์จะไม่ได้คิดอะไรในทางลบ แต่ก็ทำให้คนฟังเข้าใจผิดได้ง่าย ควรเปลี่ยนการถามไปในทำนองว่า นอกจากที่กล่าวมา มีอย่างอื่นที่สนใจ หรือที่ถนัดอีกไหม ?

 

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้ามาพูดคุยกันได้ตลอดเวลาในกลุ่มนี้นะคะ https://jobbkk.com/go/ZxTGD

 

สอบถามเพิ่มเติมสำหรับ HR : 02-514-7474 ต่อ 3

อีเมล : crm@jobbkk.com

Line :  @jobbkkvip (อย่าลืมใส่ @)

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top